สร้างจากความฝัน ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจและแบ่งปันสิ่งดีๆให้แก่กัน

จุดเที่ยว จุดทำบุญ เช็กอินเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ต้อนรับปีมังกร 2024

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังโบราณสมัยอาณาจักรอยุธยา นอกจากนี้ มีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส

ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด อาคารประธานของกลุ่มอาคารนี้ คือ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มฐานไพที เป็นกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานบนฐานยกพื้นขนาดใหญ่บริเวณลานด้านทิศเหนือของกลุ่มพระอุโบสถ รองรับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญ เช่น พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พระสุวรรณเจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ กลุ่มที่สามคือกลุ่มอาคารประกอบ ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
เวลาเปิดเข้าชม 8:30 น. ถึง 15:30 น.

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อวัดสลัก สร้างในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับและสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ประทับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นั้น วัดสลักเป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักเมื่อ พ.ศ. 2326 พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนาในปี พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ” และใน พ.ศ. 2346 พระราชทานนามใหม่ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

วัดมหาธาตุเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงพระบุพโพเจ้านายซึ่งดำรงพระเกียรติยศสูง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ของวัดเป็นที่สร้างเมรุพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ชั้นสูง ในปลาย พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมา ใน พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้น จะทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ซึ่งจะได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” แต่อาคารหลังนี้มาสร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดที่วัดบวรสถานสุทธาวาส ใน พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

ช่วงสิ้นปี 2566 เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรม วันสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พร้อมกิจกรรมที่สร้างบุญสร้างกุศล อิ่มเอมไปกับแสงสีที่สร้างความสุขที่น่าสนใจ ตั้งแต่วันนี้-วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567

ส่งท้ายปี 2566 นี้ มีกิจกรรมสำคัญของ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” วัดสำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีอายุครบ 388 ปี ที่ได้จัดกิจกรรมแห่งความสุข พร้อมบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์ และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง

วัดศูนย์รวมความรู้ และจุดเริ่มต้นของการสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4 ดังนั้นคณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และคณะศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันจัดให้มีการสมโภชพระอารามขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566-2 มกราคม พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่อ “งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ถนนสีลม
ถนนสีลม เป็นถนนสายสำคัญในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเป็นถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 6 ช่องทางจราจร มีช่องจอดรถและบาทวิถีทั้ง 2 ข้าง ความยาวประมาณ 2.78 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดกับถนนศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนเดโช ถนนปั้น ถนนประมวญ ถนนสุรศักดิ์ และถนนมเหสักข์ ทางพิเศษศรีรัช และไปสิ้นสุดที่ถนนเจริญกรุง สีลมเป็นถนนที่มีเกาะกลางและมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเรียงรายไปตลอดแนวถนนจำนวน 483 ต้น และเป็นถนนสำคัญสายแรกที่เดินสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ไว้ใต้ดิน

ถนนสีลมเป็นถนนธุรกิจสายสำคัญสายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีผู้ขนานนามถนนสีลมว่า “ถนนคนเดินของกรุงเทพฯ” เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคาร โรงแรม อาคารสำนักงาน ตลอดจนศูนย์การค้าขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ทั้งสองฟากถนน และเป็นถนนท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งซื้อสินค้าและขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวตามบาทวิถีในเวลากลางคืน เช่น ซอยละลายทรัพย์ ถนนพัฒน์พงศ์ นอกจากนี้ยังเคยมีโครงการพัฒนาเป็นย่านถนนคนเดินในวันอาทิตย์

นอกจากนี้ยังถือได้ว่าถนนสีลมเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง และแขก ดังจะเห็นได้จากบริเวณทางแยกเดโชซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ศาสนสถานของชาวทมิฬ ครั้งหนึ่งถนนสายนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของสุสานสาธารณะและสุสานเอกชนทั้งสุสานคริสต์คาทอลิก สุสานคริสต์โปรเตสแตนต์ สุสานจีน สุสานแขก รวมแล้วกว่า 13 แห่ง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น สุสานปาร์ซี สุสานคริสเตียน สุสานและฌาปนสถานสมาคมจีนแคะ สุสานฮกเกี้ยน สุสานจีนบาบ๋า

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (ทมิฬ: அருள்மிகு ஶ்ரீ மஹாமாரி அம்மன் கோவில் อรุลมิกุ ศรี มหามาริอัมมัน โกวิล)[1] หรือ วัดแขกสีลม เป็นโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ถวายการบูชาพระแม่มริอัมมัน เจ้าแม่พื้นเมืองท้องถิ่นในอินเดียภาคใต้ซึ่งถูกการผสานความเชื่อ ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นอวตารของพระแม่อุมาเทวี พระชายาของพระศิวะตามคติพหุเทวนิยมในศาสนาฮินดูเป็นเทพประธานของวัดแห่งนี้

เซ็นทรัลเวิลด์
เซ็นทรัลเวิลด์ (อังกฤษ: CentralWorld เขียนในรูปแบบ: centralwOrld) เดิมชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของย่านการค้าราชประสงค์ ระหว่างถนนพระรามที่ 1 และถนนราชดำริ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน โดยเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่รวมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ขายมากเป็นอันดับ 4 ของไทย และมีพื้นที่ชั้น 1 มากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ราชประสงค์
ราชประสงค์ เป็นชื่อย่านและสี่แยกในพื้นที่แขวงปทุมวันและแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นจุดตัดระหว่างถนนราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 และถนนเพลินจิต เป็น “ย่านการค้าใจกลางเมือง” ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับย่านสยามที่อยู่ติดกัน

ย่านราชประสงค์เป็นสถานที่ประดิษฐานศาลเทพเจ้าต่าง ๆ ทั้งสิ้น 6 ศาลจนบางคนถึงกับเรียกสี่แยกนี้ว่า “แยก 6 เทพ” ซึ่งเทพทั้งหกองค์นั้นเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ จากคำขวัญของเขตปทุมวันที่ว่า “บูชาท้าวมหาพรหม ชื่นชมวังสมเด็จย่า ศูนย์การค้ามากมี ลุมพินีสวนสาธารณะ ศิลปะมวยไทย สถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมโยงรถไฟฟ้า สถานศึกษาเลื่องชื่อ นามระบือจุฬาลงกรณ์” ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับย่านราชประสงค์นี้อย่างมาก รวมไปถึงการมีจุดเชื่อมโยงรถไฟฟ้าอีกด้วย เพราะย่านราชประสงค์อยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าถึง 3 สถานี โดยมีสถานีหลักคือสถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 2 สาย คือสายสุขุมวิทกับสายสีลม บนถนนพระรามที่ 1 ในพื้นที่ย่านสยาม และมีสถานีย่อยอีก 2 สถานี คือสถานีชิดลมของสายสุขุมวิทบนถนนเพลินจิต และสถานีราชดำริของสายสีลมบนถนนราชดำริ

ข้อมูลนำมาจาก

https://www.royalgrandpalace.th/th/home
https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
https://th.wikipedia.org/wiki/วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2751217
https://th.wikipedia.org/wiki/ถนนสีลม
https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
https://th.wikipedia.org/wiki/เซ็นทรัลเวิลด์
https://th.wikipedia.org/wiki/ราชประสงค์

semenax semenaxcaps.com